top of page
รูปภาพนักเขียนiPhone iOS Thailand

"ปวิณ ภิรมย์ภักดี" : 1 ปีในลีกรองกับประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้



ย้อนเวลากลับไปในปี 2018 ของศึกฟุตบอลไทยลีก 1 เมื่อการแข่งขันนัดที่ 34 สิ้นสุดลง บทสรุปของฤดูกาล มีเรื่องราวให้ประหลาดใจ

สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด หรือที่หลายคนอาจรู้จักในชื่อเดิม บางกอกกลาส เอฟซี ต้องตกชั้นจากลีกสูงสุดของเมืองไทย ลงไปเล่นในลีกพระรอง ศึกไทยลีก 2 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร

ภาพของนักเตะ ทีมงาน แฟนบอลที่ร้องไห้ในวันนั้น ถูกเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์ และโลกออนไลน์ จากผู้คนมากมายที่อยู่ในสนาม

แต่มีหนึ่งคนที่ไม่ได้เสียน้ำตา ให้กับการตกชั้น แม้ว่าเขาอาจเป็นคนที่เสียใจมากที่สุด กับการตกชั้นของทีม

เขาคือ ปวิณ ภิรมย์ภักดี เจ้าของสโมสร

จากวันที่ร่วงหล่น มาจนถึงวันที่บีจี ปทุม ยูไนเต็ด กลับขึ้นสู่ไทยลีก 2 ด้วยการคว้าแชมป์อย่างสมศักดิ์ศรี ปวิณ คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง การพาสโมสรฟุตบอลที่ตัวเอง สร้างขึ้นมากับมือ กลับไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่อีกครั้ง

การตกชั้นลงไปเล่นไทยลีก 2 อาจกลายเป็นจุดด่างพร้อยของหน้าประวัติศาสตร์สโมสร แต่สำหรับนายใหญ่ของรังกระต่ายแก้ว นี่อาจเป็นประสบการณ์ ที่ล้ำค่าที่สุด ตลอด 11 ปี ของการทำสโมสรฟุตบอลอาชีพ

ย้อนไปช่วงท้ายฤดูกาล 2018 ตอนนั้นเตรียมใจกับการตกชั้นไว้แค่ไหน?

ตอนนั้นผมเผื่อใจไว้ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะในใจลึกๆ ผมสังหรณ์ใจว่า โอกาสตกชั้นของเรายังคงมีอยู่ ไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์

ช่วงนั้นผมพูดเล่นเรื่องการตกชั้น กับทางนักเตะและทีมงานอยู่บ่อยครั้ง ประมาณว่า ถ้าตกชั้นไป ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีนะ จะได้ปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง ในองค์กร คือเราพูดไปแบบนั้น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีด้วยมั้ง (หัวเราะ) เหมือนปลอบใจตัวเองว่า การตกชั้นก็ไม่ใช่เรื่องแย่

และสุดท้ายเราก็ตกชั้นจริงๆ










ความรู้สึกในวินาที ที่ตกชั้นเป็นอย่างไร?

เกมสุดท้าย เราขอแค่แต้มเดียวเพื่อรอดตกชั้น แต่ปรากฏว่า เราแพ้...ซึ่งผมเตรียมใจเอาไว้แล้วนะ ประมาณว่าถ้าเราตกชั้นจริงๆ ต้องทำตัวอย่างไร

พอเราตกชั้นจริงๆ ถามว่าเสียใจ ร้องไห้ ฟูมฟายไหม? ไม่ขนาดนั้น

แต่อารมณ์ตอนนั้น มันช็อคมากกว่า มันช็อคที่ว่า เราตกชั้นจริงๆ ตกชั้นตามที่ตัวเองสังหรณ์ไว้

ยิ่งมองไป เห็นทีมงาน เห็นแฟนบอล เห็นนักฟุตบอล ทั้งรุ่นเด็ก รุ่นใหญ่ ร้องไห้กันหมด แทบทุกคน

ผมยิ่งไม่รู้สึกอะไรได้เลย นอกจากต้องปลอบใจพวกเขา ช่วยพวกเขาให้มากที่สุด เหมือนเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า เราน่าจะทำได้ดีที่สุดในตอนนั้น

แต่ตอนขับรถกลับบ้าน เศร้านะ คืนนั้นกลับบ้านไป นอนไม่หลับทั้งคืน นอนคิดทั้งคืนว่า “เฮ้ย มันเป็นไปได้อย่างไร เราตกชั้นจริงๆเหรอ”

สุดท้ายผมมาปลอบใจตัวเองว่า ไม่เป็นไร ยังมีลีกคัพ ถ้าเราคว้าแชมป์ลีกคัพได้ อย่างน้อยก็เป็นของขวัญปลอบใจแฟนบอลได้ ถึงจะตกชั้น แต่เราก็ได้ถ้วยติดมือ

ตอนนั้นผมพยายาม ไม่คิดหมกมุ่น กับเรื่องที่เราตกชั้น คิดแต่เรื่องเกมนัดชิงลีกคัพ ที่จะมาถึง

ปรากฎสุดท้ายเราแพ้ ไม่ได้แชมป์ ช้ำใจมากขึ้นไปอีก สองเท่าเลย

สุดท้ายหลังจบนัดชิงลีกคัพ ผมไม่คุยเรื่องฟุตบอลกับใครเลย 2 สัปดาห์ ไม่แม้แต่คนเดียว

กลับมาจากความผิดหวัง ได้อย่างไร?

เราก็ต้องไปต่อ หลังจากผ่าน 2 สัปดาห์ ผมเริ่มมานั่งวางแผนแล้วว่า จะไปทางไหนต่อในฤดูกาล 2019 บนไทยลีก 2 กับเป้าหมายที่ชัดเจนของเรา คือกลับไปเล่นไทยลีก 1 ภายในฤดูกาลเดียว

การเตรียมการในไทยลีก 2 ต่างจากไทยลีก 1 มากน้อยแค่ไหน?

สำหรับผมถือว่า การเตรียมการต่างกันเยอะนะ เราต้องเปลี่ยนแปลงแนวทาง ใช้งบทำทีมน้อยกว่าเดิมเพราะรายได้เราลดลง

เป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้งบประมาณ เท่ากับตอนอยู่ ไทยลีก 1 อย่างเช่นค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์ จาก 20 ล้านบาท เหลือแค่ 5 ล้านบาท (หัวเราะ)

พองบประมาณลดลง เราก็ไม่สามารถจ้างนักเตะชื่อดัง แบบที่เราเคยใช้แบบในอดีต เราต้องปรับตัวตามงบประมาณที่เปลี่ยนไป

ซึ่งมันก็ตอบโจทย์ตรงที่ว่า เราต้องการนักเตะ ที่รู้จักไทยลีก 2 ดีอยู่แล้ว มาช่วยพาเรากลับไป ไทยลีก 1 ซึ่งนักเตะเหล่านี้ ค่าเหนื่อยไม่แพง

นอกจากนี้ ผมมองว่า การตกชั้นลงมา เป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ผลักดันผู้เล่นเยาวชนของเรา ให้มีประสบการณ์มากขึ้น สร้างกระดูกให้เขา ให้มีประสบการณ์ เพื่อหวังให้เป็นอนาคตของเรา ในช่วงสัก 3-5 ปีข้างหน้า










ดูเหมือนแนวทางของทีม จะเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร?

อย่างที่ผมบอกไป ถ้าตกชั้นลงมา คงได้ปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง ผมจึงใช้โอกาสนี้ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างฟุตบอลของทีมด้วย

เมื่อก่อนผมพูดตลอดว่า ฟุตบอลของบีจีเป็นฟุตบอลเอนเตอร์เทนต์ แต่เอาเข้าจริง คำว่าฟุตบอลเอนเตอร์เทนต์ มันกว้างนะ...สมัยก่อนผมไม่สามารถบอกได้ว่า ฟุตบอลเอนเตอร์เทนต์ของบีจี ตกลงมันคือฟุตบอลแบบไหนกันแน่

ผมจึงถือโอกาสจากการตกชั้น ในการวางแผนรูปแบบการเล่นที่ชัดเจนของบีจี เมื่อเรากลับไปไทยลีก 1 เราก็จะยังคงรูปแบบฟุตบอลนี้ไปตลอด ซึ่งสุดท้าย ก็ยังคงเป็นรูปแบบการเล่นฟุตบอลบุก สนุกเหมือนเดิม แต่เน้นความรัดกุม ในการรักษาผลการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

หรือในแง่ของการบริหารองค์กร ผมกล้าตัด กล้ายุบอะไรที่ไม่จำเป็น ผมหันมาให้ความสำคัญกับโครงสร้างมากขึ้น เข้าหาและพูดคุยกับผู้เล่นโดยตรงมากขึ้น

สมัยก่อน ผมไม่กล้าตัดอะไรเลยนะ ไม่กล้าตัดงบประมาณ ไม่กล้าตัดหน่วยงาน ไม่กล้าตัดผู้เล่นออก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะผมกลัวตกชั้น แต่สุดท้ายผมก็ตกชั้น จากความไม่กล้าของตัวเอง

เปลี่ยนแปลงเยอะขนาดนี้ มั่นใจแค่ไหนว่าจะได้เลื่อนชั้นในปีเดียว?

มั่นใจมาก มั่นใจกว่าตอนที่เราอยู่ไทยลีก 1 แทบจะทุกปี… มั่นใจกว่าปี 2014 ที่เราได้แชมป์ เอฟเอคัพ เพราะว่าตอนนี้ ผมเข้าใจในการบริหารทีมฟุตบอลมากขึ้น

ยกตัวอย่าง เรื่องการบริหารนักเตะ ผมยอมรับว่า สมัยก่อนผมคิดแค่ว่า เราต้องเอานักเตะชื่อดัง เราต้องเอานักเตะตัวทีมชาติทั้งไทย ทั้งต่างประเทศ

อยากได้ตัวนี้ ต้องเซ็นมาให้ได้ แต่เราไม่เคยมองที่ระบบ ว่าสุดท้ายนักเตะเหล่านี้ ที่เราดึงตัวมา จะเข้ากับระบบของทีมได้ไหม

ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว ผมต้องการนักเตะที่เข้ากับระบบทีม เข้ากับการทำงานแบบเราได้ ชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องสำคัญ นักฟุตบอลจากไทยลีก 2 อาจจะเล่นดีกว่านักเตะฟุตบอลทีมชาติก็ได้นะ ถ้าเขาเล่นเข้าระบบ

สมัยก่อนผมไม่กล้า จะเอานักเตะระดับไทยลีก 2 มาเล่น แต่ผมไม่เคยรู้เลยว่า นักเตะเหล่านี้เล่นดีมาก และเล่นเป็นระบบด้วย มีความทะเยอทะยาน มีความมุ่งมั่นเต็มร้อย เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยรู้ เพราะผู้เล่นพวกนี้ ไม่มีโอกาส

ผมลงมาทำทีมในไทยลีก 2 ผมเห็นใจของนักเตะ ทำให้ผมรู้เลยว่า หัวใจสำคัญแค่ไหนในการเล่นฟุตบอล ถ้าหัวใจไม่ได้ ก็ไม่มีทางเล่นดี

ต่อให้ไปซื้อนักเตะดีกรีทีมชาติมา แต่ถ้าใจเขาไม่มาด้วย ก็ไม่มีประโยชน์

ฟุตบอลไทยลีก 2 ดูเหมือนจะให้อะไรกับคุณหลายอย่าง?

ฟุตบอลไทยลีก 2 ให้อะไรผมเยอะนะ ช่วยให้ผมเข้าใจหลายสิ่งหลายอย่าง เหมือนได้เปิดโลก

ผมเปลี่ยนรูปแบบแนวทาง การเลือกนักเตะใหม่ และเราประสบความสำเร็จอย่างดี เราได้พบนักเตะจากไทยลีก 2 ซึ่งทำผลงานได้ดี สามารถเล่นในไทยลีก 1 ได้

ปีนี้ผมให้ความสำคัญกับระบบ ผมต้องการทีมที่เป็นทีม เราต้องการทีมที่สื่อสารกันได้ ระหว่างโค้ชและนักเตะ และนักเตะทุกส่วนภายในทีม กองหลัง-กองกลาง-กองหน้า ซึ่งพอถึงเวลาที่เราทำงานจริง การมีนักเตะ โค้ช และทีมงานที่เข้าระบบ มันช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นเยอะ

ผมได้เห็นนักเตะหลายคน ที่ยังต้องการอยู่กับทีม แม้จะตกชั้น ไม่อยากย้ายไปไหน ทั้งที่มีทีมจากไทยลีก 1 สนใจ เรื่องแบบนี้ ก็สอนอะไรผมได้เหมือนกัน

แม้กระทั่งเรื่องนอกสนาม เราได้ไปเที่ยวทั่วไทย เราได้ไปในจังหวัดที่เราไม่เคยไป ไปในจังหวัดที่ทีมในไทยลีก 1 แทบไม่ได้ไป ซึ่งเป็นโอกาสให้เราได้ไปโปรโมต ทีมฟุตบอลของเรา ขยายตลาดมากขึ้น

ที่สำคัญที่สุด ผมมองว่าการตกชั้น คือประสบการณ์ที่บอกกับนักเตะ ทีมงาน หรือแม้กระทั่งผู้บริหารในองค์กรของเราว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะหนึ่งในสิ่งที่ก่อนหน้านี้ เราแทบจะไม่จินตนาการว่าจะเกิดขึ้น คือการตกชั้น

การตกชั้น สอนให้ทุกคนรู้ว่า ใครก็สามารถตกชั้นได้ ถ้าคุณไม่พยายามทำงาน ช่วยกัน สนับสนุนกัน พยายามผลักดันกัน...สมัยก่อน เราไม่ตื่น เพราะเราไม่เคยคิดว่า เราจะตกชั้น ไม่มีใครคิดว่า ด้วยทรัพยากร ด้วยเม็ดเงินที่เรามี ใครๆก็บอกว่า “เป็นไปไม่ได้ ที่บีจีจะตกชั้น”

แต่ตอนนี้ ทุกคนตื่นแล้ว ผมคิดว่าการผ่านประสบการณ์ตกชั้นมาแล้ว จะทำให้เราเป็นทีมที่ดีขึ้น เรามีประสบการณ์มากขึ้น

สำหรับผมสิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการตกชั้นและไทยลีก 2 มีความหมายมหาศาล

ดูเหมือนคุณจะมองเห็นแต่แง่ดี กับการตกชั้นมาเล่นในไทยลีก 2?

ในด้านหนึ่ง มันคือการเริ่มต้นใหม่ที่ดีมากนะ ของสโมสร แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมอยากตกชั้นทุกสิบปีนะ (หัวเราะ)

ผมได้เห็นเรื่องดีๆ หลายอย่างจริงๆ กับการลงมาเล่นไทยลีก 2 ผมได้เห็นว่า แม้เราจะหล่นมาลีกล่าง แต่สปอนเซอร์ของเรา ยังคงให้การสนับสนุนเราเหมือนเดิม มันทำให้เห็นแนวทางที่ถูกต้องของเรา

เพราะฟุตบอลปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่เรื่องในสนาม แต่มีเรื่องนอกสนามด้วย ธุรกิจฟุตบอล ถ้าไม่มีรายได้ ก็อยู่ไม่ได้...ถามว่า ทำไมเรายังมีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุน หรือภาพลักษณ์ของแบรนด์ ยังคงดูดี ไม่ต่างอะไรจากสมัยอยู่ไทยลีก 1 ผมบอกเลยว่า เรื่องนอกสนามล้วนๆเลย

เราเน้นทำกิจกรรมกับสปอนเซอร์ สร้างกิจกรรมระหว่างสโมสร, สปอนเซอร์ และแฟนคลับ มันก็ทำให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ สปอนเซอร์เขารู้สึกว่าได้อะไร กับการมาสนับสนุนเรา ส่วนแฟนบอลได้ทำกิจกรรมกับสโมสร

ผมได้เห็นว่า แม้เราจะตกชั้นมา เรายังมีแฟนบอลที่คอยสนับสนุนเราอยู่...เชื่อไหมครับ ในขณะที่เราตกลงมาเล่นไทยลีก 2 ยอดขายค่าของที่ระลึกของเรา เพิ่มมากกว่าตอนอยู่ไทยลีก 1 

แม้แต่การที่คนดูลดน้อยลงในสนาม จากการที่เราตกชั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป การที่แฟนบอลไม่เข้าสนาม ไม่ได้หมายความว่า เขาเลิกสนับสนุนเรา แต่บางที เขาอาจไม่สะดวกมาดูที่สนาม เพราะหลายปัจจัย รถติด, ฝนตก, แดดร้อน อะไรแบบนี้ ผมเข้าใจนะ เพราะนี่คือความเป็นจริงของ

สิ่งที่ได้จากฟุตบอล เคยลองนำไปปรับใช้กับการทำธุรกิจอื่นบ้างไหม?

หลายสิ่งหลายอย่าง ผมประยุกต์จากความรู้ที่ได้ จากการทำทีมฟุตบอล โดยเฉพาะเรื่องการบริหารบุคคล เมื่อก่อนเวลาคุยงานกัน ผมต้องเรียกประชุม มากมายหลายคน แต่ว่าปัจจุบัน ผมเอาเรื่องการคุยแบบตัวต่อตัวมาใช้ มันทำให้การคุยงานของเรา รวดเร็วมากยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากปี 2009 จนถึงปัจจุบัน บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ทีมฟุตบอลดูเหมือนว่า จะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แบบเดียวกับที่บริษัทเป็น ในความคิดของคุณ มองว่าสโมสรบีจี ประสบความสำเร็จไหม ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา?

ถ้าผมทำธุรกิจฟุตบอล ดีกว่าธุรกิจหลักของบริษัท ถ้าแบบนั้นผมมองว่า ตัวผมเองมีปัญหาแล้วละ

ผมมองว่าการที่ธุรกิจเราเติบโตได้ดี มันช่วยทำให้สโมสรของเราแข็งแกร่ง ผมพูดได้ว่า ผมแฮปปี้ที่ธุรกิจหลักแข็งแรงกว่า ธุรกิจฟุตบอล เพราะทีมฟุตบอลจะได้เงินสนับสนุนที่แข็งแกร่งเข้ามาด้วย

แต่สำหรับผม ผมองว่า เรื่องความสำเร็จในการทำธุรกิจฟุตบอล มันวัดกันยากนะ ถ้าคุณมองเรื่องถ้วยแชมป์ เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเป็นแชมป์ทุกปี อันนี้โอเคว่า คุณไม่ได้แชมป์ เท่ากับคุณล้มเหลว

ในทางกลับกัน สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด มองถึงเรื่องการสร้างสังคมกีฬามากกว่า การเป็นพื้นที่พัฒนาโอกาสด้านกีฬา ให้กับเยาวชน ให้พวกเขาเติบโตบนเส้นทางกีฬา เดินตามความฝันการเป็นนักบอลอาชีพ

ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่อยากได้ถ้วยนะ แต่ผมมองว่ามันเป็นโบนัสมากกว่า ถ้าเราไม่ได้ เราก็ไม่ต้องมานั่งเสียใจขนาดนั้น

สำหรับผม ผมมองว่า ถ้าคนในวงการฟุตบอล หรือแฟนฟุตบอลไทย คิดถึงสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด แล้วเขาเห็นภาพว่า สโมสรเราเป็นสโมสรฟุตบอล แบบที่เราต้องการจะสื่อออกไป ผมมองว่าแค่นี้ก็พอแล้ว

ผ่านมา 11 ปี กับการทำสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด คุณเติบโตขึ้นมากแค่ไหน กับการทำงานสายนี้?

ผมตอบอย่างนี้แล้วกัน เหมือนผมเปิดร้านอาหารมา 11 ปี มันเหมือนกับว่า ก่อนหน้านี้ผมยังไม่รู้ว่า ร้านอาหารที่ผมต้องการ มันเป็นอย่างไรกันแน่

ที่ผ่านมา ผมยังไม่จับไม่ได้ บางปีผมคิดว่าอาหารแบบนี้ อร่อยแล้ว แต่พอปีถัดมา ผมคิดว่ามันไม่ใช่ อาหารแบบนี้มันเค็มไป

แต่ปีนี้ ผมคิดว่าผมเจออะไรที่มันใช่แล้ว รสชาติอาหารแบบนี้ การทำอาหารแบบนี้ การจัดจานแบบนี้

ผมมองว่าเรื่องแบบนี้ มันขึ้นอยู่กับบุคคล เวลา สถานการณ์ บางคนอาจจะรู้ก่อนผม โตก่อนผม บางคนอาจจะรู้หลังผม โตหลังผมก็ได้ แต่ตอนนี้ผมโตแล้วนะ (หัวเราะ)

ผมกล้าพูดเลยว่า ถ้าคุณคิดตั้งแต่ต้นว่า ฟุตบอลไทยลีก 2 มันง่ายๆ มันหมูๆ ผมว่านี่คือสิ่งที่อันตรายมากที่สุด ความประมาทคือสิ่งที่อันตราย ในการทำทีมฟุตบอล

อีกอย่างผมค่อนข้างพอใจมาก ที่การวางแผนงานตอนต้นฤดูกาล ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ วิธีการดึงตัวนักเตะ การสร้างระบบของทีม รวมถึงการให้โอกาสเยาวชน ทุกอย่างเป็นไปตามเป้า

แต่ว่ายังไม่สุดนะ เพราะยังไม่ได้หยิบถ้วย ผมว่าตอนนั้น มันจะต้องสุดแน่ๆ

Comments


bottom of page