คณะนักวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์เผยผลวิจัย ระบุ 'หนวดเคราผู้ชาย' มีจุลินทรีย์ก่อโรคเยอะกว่าที่พบใน 'ขนสุนัข' โดยเก็บตัวอย่างเปรียบเทียบจากหนวดเคราที่อยู่ใต้ริมฝีปากของผู้ชาย และขนสุนัขบริเวณหลังคอ
วารสารด้านรังสีวิทยาในยุโรป European Radiology เผยแพร่ผลวิจัยที่จัดทำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากคลินิกเฮิร์สลันเดนในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเก็บตัวอย่างหนวดเคราใต้ริมฝีปากผู้ชาย 18 คน อายุ 18-76 ปี เปรียบเทียบกับขนบริเวณหลังคอของสุนัขสายพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งหมด 30 ตัว อายุระหว่าง 3-13 ปี โดยระบุว่าหนวดและขนในบริเวณดังกล่าวเป็นจุดเสี่ยงที่จะสะสมจุลินทรีย์มากที่สุด
ผลวิจัยบ่งชี้ว่า หนวดเคราของผู้ชายที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 'ทั้งหมด' มีจุลินทรีย์ในปริมาณสูง ขณะที่ขนสุนัข 23 ตัวมีจุลินทรีย์ในปริมาณสูง แต่อีก 7 ตัวมีจุลินทรีย์ในระดับต่ำจนถึงปานกลาง นอกจากนี้ หนวดเคราผู้ชายที่มีจุลินทรีย์ก่อโรคซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คิดเป็นสัดส่วน 7 ต่อ 18 ขณะที่ขนสุนัขที่มีจุลินทรีย์ก่อโรคในระดับอันตราย คิดเป็นสัดส่วน 4 ต่อ 30 เท่านั้น
คณะผู้จัดทำวิจัยเปิดเผยว่า การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างหนวดเคราผู้ชายและขนสุนัข เกิดขึ้นเนื่องจากคลินิกดังกล่าวมีเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scanner ในจำนวนจำกัด ทั้งยังต้องแบ่งแยกระหว่างเครื่องที่ใช้กับคนและเครื่องที่ใช้กับสุนัข จึงมีการตั้งคำถามว่าคนและสุนัขจะสามารถใช้เครื่องสแกนเดียวกันได้หรือไม่ นำไปสู่การวิจัยเปรียบเทียบระหว่างหนวดเคราและขนสุนัข ซึ่งผลสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า การใช้เครื่องสแกนร่วมกันระหว่างคนและสุนัขเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินงานวิจัยระบุว่า การเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างระหว่างคนและสัตว์อาจน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ใช้บริการเครื่องสแกนของคลินิกดังกล่าว ทั้งยังไม่มีการศึกษาจุลินทรีย์ในเส้นผมของ 'ผู้หญิง' ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมจุลินทรีย์ก่อโรคได้เช่นเดียวกัน
ส่วนเว็บไซต์เดอะการ์เดียน สื่อของอังกฤษที่รายงานเรื่องผลวิจัยชิ้นนี้ แนะนำให้ผู้ชายทำความสะอาดหนวดเคราทุกครั้งที่อาบน้ำ และควรใช้ผลิตภัณฑ์แบบเดียวกับที่ใช้ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะ เพราะการทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
ที่มา - BBC / European Radiology / USA Today
Comments